ขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อน
14 ตุลา |
เครือข่ายนักศึกษาปัญญาชน
ในช่วงทศวรรษ 2500-2510 ซึ่งรัฐบาลได้จำกัดและควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข่าวสารของประชาชนอย่างเข้มงวด
กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญโดดเด่นในการผลิตแนวคิดตอบโต้ผู้มีอำนาจและเผชิญหน้ากับเผด็จการ
คือ ปัญญาชนและนักศึกษา
ท่ามกลางบรรยากาศที่ขาดสิทธิเสรีภาพ พวกเขามีโอกาสได้สัมผัสกับแหล่งความคิดและข้อมูลข่าวสารมากมาย
โดยเฉพาะจากต่างประเทศ เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของนักศึกษาปัญญาชนที่แสดงความคิดเห็นแปลกใหม่หลากหลายผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่พวกเขาริเริ่มจัดทำขึ้นเอง
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดที่สำคัญในยุคนั้น
คือ
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นิตยสารราย 3 เดือน ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประทศไทย
ซึ่งออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 และในปี 2509 บรรณาธิการของ
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ได้ชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง
ๆ เข้ามาร่วมกันทำ
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนิสิตนักศึกษา
นำไปสู่การตั้งกลุ่ม ปริทัศน์เสวนา เพื่อพบปะพูดคุยกันถึงปัญหาสังคมและเรื่องราวที่น่าสนใจ
เครือข่ายปัญญาชนที่ก่อตัวขึ้นจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์
ได้กระจายออกไปสู่แวดวงสิ่งพิมพ์ของปัญญาชนฉบับอื่น ๆ เช่น นิตยสาร
ชาวบ้าน จตุรัส ปาจารยสาร วรรณกรรมเพื่อชีวิต วิทยาสารปริทัศน์ ชัยพฤกษ์
หนุ่มเหน้าสาวสวย ลอมฟาง อนาคต ศูนย์ศึกษา ทัศนะ ฯลฯ
เนื้อหาของนิตยสารเหล่านี้มีความทันสมัยและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
กระตุ้นให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดความตื่นตัวทางปัญญา และเกิดการเชื่อมต่อทางปัญญาระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่
นอกจากนิตยสารของปัญญาที่เผยแพร่ในสังคมวงกว้างแล้ว
ในรั้วมหาวิทยาลัยเองคนหนุ่มสาวก็ตื่นตัวในการจัดทำหนังสือรายสะดวกจำหน่ายแจกจ่ายกันมากขึ้น
ซึ่งมักเรียกกันว่า หนังสือเล่มละบาท เนื่องจากโดยทั่วไปจะมีราคามาตรฐานเท่ากับ
1 บาท มีขนาด 8 หน้ายก มีความหนาราว 6 ยก หรือ 48 หน้า ผู้จัดทำมีตั้งแต่สโมสรนักศึกษาคณะต่าง
ๆ ไปถึงระดับชมรมและกลุ่มอิสระต่าง ๆ
กิจกรรมการแสดงความคิดเห็นผ่าน หนังสือเล่มละบาท
ได้แพร่หลายเป็นวัฒนธรรมของนักศึกษาแทบทุกมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาที่เปลี่ยนจากแนวเพ้อฝันสายลมแสงแดดไปสู่เรื่องที่มีเนื้อหาจริงจังและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อย
ๆ โดยเฉพาะหนังสือของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สนใจสถานการณ์สังคมแล้วรวมตัวกันเป็น
กลุ่มอิสระ ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น ชมรมนิติศึกษา กลุ่มเศรษฐธรรม
และ สภาหน้าโดมที่ ม. ธรรมศาสตร์ สภากาแฟที่ ม. เกษตรศาสตร์ กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชมรมคนรุ่นใหม่ที่ ม. รามคำแหง กลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ ม. เชียงใหม่
ฯลฯ ซึ่งมักจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและออกหนังสือรายสะดวกยืนขายตามหน้าประตูมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ
ตัวอย่างของหนังสือเล่มละบาทที่ถูกกล่าวขวัญถึงมาก
ได้แก่
หนังสือ 7 สถาบัน ที่จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน
แต่สุดท้ายต้องเลิกร้างไปหลังจากที่ผู้จัดทำถูกเรียกไปสอบสวน
หนังสือ คัมภีร์ ที่มีการเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ยอมเสียสละเพื่อก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจ
การเมือง และสังคมที่ดีกว่า ทำโดยนักศึกษารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม
2513
หนังสือ ภัยขาว ที่มุ่งเปิดโปงนโยบายและพฤติกรรมของอเมริกาในประเทศด้อยพัฒนา
โดยเฉพาะในสงครามเวียดนามและในประเทศไทย ทำออกมาขายเมื่อวันที่ 10
มีนาคม 2514 โดยกลุ่มสภาหน้าโดม ซึ่งก่อนหน้านั้น สังคมศาสตร์ปริทัศน์
ได้ออกฉบับ ภัยเหลือง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์จักรวรรดินิยมญี่ปุ่น
หนังสือ วลัญชทัศน์ ฉบับ ภัยเขียว ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารหลังเกิดการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอมในวันที่
17 พฤศจิกายน 2514
สิ่งพิมพ์ของนักศึกษาปัญญาชนเหล่านี้มักอ้างอิงความคิดเห็นและผลงานซึ่งกันและกัน
แลกเปลี่ยนหมุนเวียนนักเขียนกัน แถมยังลงโฆษณาแนะนำให้กันและกันด้วย
แม้เนื้อหาที่ปรากฏในเครือข่ายสิ่งพิมพ์จะมิได้มีแนวคิดอุดมการณ์เดียวกันเสียทั้งหมด
แต่ก็มีลักษณะร่วมคือ มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ เป็นประเด็นสถานการณ์ร่วมสมัย
และมีแนวคิดที่แหวกแนวน่าสนใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เครือข่ายเหล่านี้ได้ก่อตัวเป็นชุมชนของนักศึกษา
ปัญญาชน และประชาชนจำนวนหนึ่งที่พบปะกันในทางตัวอักษร ผลิต เผยแพร่ข้อมูลและทัศนะ
เป็นทางเลือกให้กับสังคมที่ถูกครอบงำด้วยข้อมูลข่าวสารของรัฐเผด็จการ
ในด้านการรวมตัวกันระหว่างนิสิตนักศึกษาระหว่างสถาบันต่าง
ๆ ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จนกระทั่งมีการจัดตั้ง ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(ศนท.) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2513 โดยมีสมาชิกระดับอุดมศึกษา
11 สถาบัน (ได้แก่ ม. เกษตรศาสตร์ ม. ขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม. เชียงใหม่ ม. ธรรมศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษาทั่วประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ม. สงขลานครินทร์ ม. ศิลปากร ม. รามคำแหง และ ม. มหิดล) ซึ่งกิจกรรมของ
ศนท. ในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางสังคมปกติ เช่น จัดรายการช่วยผู้ประสบภัย
จัดรายการถวายพระพร จัดแนะแนวการศึกษาแก่นักเรียน ออกร้านขายอาหารเพื่อหาทุน
เป็นต้น กระทั่งในปี 2515 ศนท. จึงเริ่มมีกิจกรรมที่แสดงบทบาททางสังคมการเมืองมากขึ้น