ขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อน
14 ตุลา |
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาก่อน 14 ตุลา
หลังจากตกอยู่ในยุค
สายลมแสงแดด มานาน ช่วงปี 2511-13 ถือได้ว่าเริ่มเข้าสู่ยุค
ฉันจึงมาหาความหมาย ของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งคนหนุ่มสาวที่ต้องการความหมายจากมหาวิทยาลัยมากกว่าปริญญาบัตร
เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อศึกษาและทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น
ออกหนังสือ ตั้งชมรมชุมนุมและกลุ่มอิสระต่าง ๆ มีการจับกลุ่มถกเถียงสัมมนากัน
หรือออกค่ายอาสาพัฒนาในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง เริ่มวิพากษ์วิจารณ์สังคม
เริ่มต่อต้านการครอบงำทางการเมืองเศรษฐกิจโดยประเทศมหาอำนาจและต่อต้านระบบเผด็จการทหาร
กลางปี 2511 บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเริ่มคึกคักมากขึ้น
เมื่อมีนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเพื่อประท้วงการขึ้นค่ารถโดยสารรถเมล์
ณ บริเวณสนามหลวง ภายหลังจากที่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างมานานตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์
เพียง 1 วัน
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์
2512 ก็มีการรวมตัวเป็น กลุ่มนิสิตนักศึกษาสังเกตการณ์เลือกตั้ง
พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(ศนท.) เริ่มแสดงบทบาทเด่นชัด โดยหยิบประเด็นทางเศรษฐกิจมารณรงค์ให้คนหันมานิยมใช้สินค้าไทย
ใช้เสื้อผ้าดิบตัดเสื้อ จนถึงรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน
2515 มีการเดินขบวนหลายครั้ง และ ศนท. ยังได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้หาทางลดการเสียเปรียบกับญี่ปุ่นทุกวิถีทาง
นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยต่างก็ให้ความร่วมมือในการรณรงค์ครั้งนี้
และถือเอาวันที่ 20-30 พฤศจิกายน เป็น สัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น
และเมื่อคณะปฏิวัติออกประกาศฉบับที่ 299
เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารสามารถก้าวก่ายอำนาจตุลาการได้ นิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันก็ได้ร่วมกันเดินขบวนไปนั่งประท้วงตลอดคืนวันที่
19 ธันวาคม 2515 ที่หน้ากระทรวงยุติธรรม จนในที่สุดประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ต้องถูกยกเลิกไป
ระหว่างวันที่ 5-20 มกราคม 2516 ศนท.
ได้จัดการรณรงค์ให้มี ปักษ์เลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของต่างประเทศ
เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนค่านิยมในการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศของคนไทย
จากนั้นก็มีการจัด สัปดาห์สงครามอินโดจีน
ขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์
2516 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์จักรวรรดินิยมอเมริกาและรัฐบาลเผด็จการทหาร
ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2516 การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเข้มข้นขึ้นอีก
เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่คณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่พากันเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร
จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้อาวุธในราชการสงคราม รถจี๊ป แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ในการล่าสัตว์
แต่ความได้แตกขึ้นเมื่อในเที่ยวกลับ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำเกิดอุบัติเหตุตกลง
ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีการสอบสวนเอาความผิดกับคณะบุคคลดังกล่าว
แต่จอมพลถนอม และจอมพลประภาส กลับพูดในทำนองว่า คณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์
หากแต่เข้าไปราชการลับ
เหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ นี่เอง
ที่ทำให้เกิดการคัดชื่อนักศึกษา ม. รามคำแหงจำนวน 9 คนออก เหตุเพราะพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ
มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งมีข้อความที่ถากถางรัฐบาลต่อกรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ
และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และจอมพลประภาส ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละ 1 ปี
จากกรณีลบชื่อนักศึกษาออกนี่เอง ทำให้นักศึกษารามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ
ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี โดยมี ศนท. เข้าร่วมสนับสนุนด้วย
การประท้วงจึงมีนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันนับหมื่นคนเข้าร่วมเดินขบวนประท้วงจากทบวงมหาวิทยาลัยไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างวันที่
21-22 มิถุนายน 2516 โดยในระยะแรก การเรียกร้องของนักศึกษาต้องการเพียงให้
ม. รามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คนกลับเข้าเรียนดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก
แต่ต่อมาก็มีการเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน
และประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
ผลการประท้วงทำให้นักศึกษาทั้ง 9 คนได้กลับเข้าเรียนตามปกติ
ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ก็ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี และรัฐบาลสัญญาว่าจะให้รัฐธรรมนูญในเร็ววัน
ซึ่งบรรดาผู้นำนักศึกษาได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้ชุมนุมว่า อีก 6
เดือนถ้ารัฐบาลไม่ยอมคืนรัฐธรรมนูญให้ประชาชน ก็ขอให้ทุกคนมาพบกันเพื่อทวงถามด้วยการเดินขบวนประท้วง
จากเหตุการณ์นี้ทำให้กลุ่มผู้นำนักศึกษา
ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และผู้สนใจ
ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขึ้น แล้วในเวลาต่อมาก็มีการร่วมเซ็นชื่อในคำประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
100 คน จนกระทั่งเกิดการจับกุมสมาชิก กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ที่ออกเดินรณรงค์ แจกใบปลิวและหนังสือเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่
6 ตุลาคม 2516 กลายเป็นจุดชนวนประวัติศาสตร์นำไปสู่เหตุการณ์ 14
ตุลา ในที่สุด