ยุคสมัยแห่งการพัฒนา
กลางทศวรรษที่
2500 ประเทศไทยเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และด้วยการชี้นำของสหรัฐอเมริกา
เพื่อสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจทุนนิยม ด้วยการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
รัฐบาลสฤษดิ์ได้จัดตั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมการเจริญเติบโต
รวมทั้งสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ รัฐบาลออกกฎหมายให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางด้านภาษีกับทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
ให้หลักประกันแก่ธุรกิจต่างชาติในการเป็นเจ้าของกิจการ ปรับปรุงระบบถือครองที่ดินให้ธุรกิจต่างชาติสามารถถือครองได้
รัฐบาลยังได้สร้างระบบคุ้มครองทางภาษีศุลกากรขึ้น กระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า
อัตราค่าจ้างถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ แล้วเก็บพรีเมียมข้าวเป็นเครื่องมือกดราคาข้าวในเมืองไว้เพื่อชดเชยกับค่าจ้างที่อยู่ในระดับต่ำ
สหภาพแรงงานถูกยกเลิก และรัฐบาลถือว่าการนัดหยุดงานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์
นำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจเมืองอย่างรวดเร็ว เกิดการสะสมทุนพอกพูนในกลุ่มธนาคารและธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งที่ผลิตสินค้าประเภทสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป และสินค้าทดแทนการนำเข้า กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
ความสำเร็จของเมืองในการดึงส่วนเกินจากชนบทเพื่อการสะสมทุน ก่อให้เกิดช่องว่างและความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้น
เกษตรกรประสบปัญหาหนี้สินและความไม่มั่นคงในที่ดิน ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มต่าง
ๆ นั้น ประชาชนกลับถูกปล่อยให้ผจญกับความแร้นแค้น รัฐบาลทหารไม่สามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้
เกิดวิกฤตการขาดแคลนข้าวสารจนถึงขนาดที่ประชาชนต้องเข้าแถวรอคิวกันอย่างยาวเหยียดตั้งแต่เช้าตรู่
เพื่อซื้อข้าวสารปันส่วนที่เจ้าหน้าที่ของทางราชการนำมาขายในราคาควบคุม