การลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล
เผด็จการทหารของนักศึกษาและประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
นั้น นับได้ว่าเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
ปรากฏการณ์ 14 ตุลา
เป็นการสั่งสมของความกดดันของการเมืองไทย ที่อยู่ใต้
ระบบเผด็จการ มาเป็นเวลายาวนาน มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่แล้วฉีกทิ้งทำลาย
สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีพึงได้ถูกปฏิเสธและเหยียบย่ำ อำนาจการเมืองการปกครองก็ตกอยู่ในมือของคณาธิปไตยเพียงไม่กี่คน
ทั้งนี้โดยอาศัยกลไกของรัฐ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นเครื่องมือ
ขณะเดียวกัน การเร่งรัด
การพัฒนา ไปสู่ความทันสมัยตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกอบกับการแผ่ขยายระบบอภิสิทธิ์ของกลุ่มข้าราชการ
นักการเมือง และกลุ่มธุรกิจเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจสังคมมากมาย
เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ ยุคสงครามเย็น
รัฐไทยยังได้ผูกมัดตัวเองอยู่กับค่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
ยินยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อบินไปทิ้งระเบิดในอินโดจีน
การต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่บ้านเมืองขาดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
ความไม่พอใจในสภาวะที่เป็นอยู่และ
ขบวนการนิสิตนักศึกษา ก็ได้ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ เครือข่ายของกลุ่มปัญญาชนคนหนุ่มสาวค่อย
ๆ เกิดความตื่นตัวทางปัญญา เริ่มตั้งคำถามต่อตัวเองและสังคม ทำให้ตระหนักในบทบาทและศักยภาพของตน
และกลายเป็นพลังในการตอบโต้และเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจในที่สุด
16 ปีภายใต้ระบอบ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส โครงสร้างทางการเมืองแบบเผด็จการและระบบเจ้าขุนมูลนายแบบราชการดำรงอยู่อย่างหยุดนิ่ง
ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไพศาล
ส่งผลให้รัฐบาลเผด็จการเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ กระทั่งเมื่อเงื่อนไขปัจจัยต่าง
ๆ สุกงอม โดยเฉพาะการเติบโตขึ้นของเครือข่ายนักศึกษาปัญญาชนและผู้ที่ไม่พอใจในระบอบเผด็จการทหาร
จนมีการรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามมาด้วยการจับกุม ๑๓กบฏ การหลอมรวมพลังทางการเมืองครั้งสำคัญของสังคมไทยจึงเกิดขึ้น
ระเบิดเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ที่จะต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ประชาชนไทยตลอดไป
|